วันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2552

Dollar Index

Dollar index คืออะไร

Dollar Index นับเป็นเครื่องมือสำคัญทางการเงินอันหนึ่งที่ มักจะเป็นตัวบ่งบอกถึงแนวโน้มการลงทุน หรือกระแสเงินลงทุนที่จะเคลื่อนที่ไปมาระหว่างสินทรัพย์ต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ณ ปัจจุบันนักวิเคราะห์ทั่วโลก ต่างหยิบยกถึงแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินสกุลดอลลาร์มาเป็นตัวกำหนดกลยุทธ์ การลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ อย่างที่เราเห็นกันในวันนี้อย่างมากมาย
แต่ทั้งนี้ ก่อนที่จะมาดูถึงความสำคัญของดัชนีค่าเงินดอลลาร์ คงต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า การคำนวณดัชนี นี้มีที่มาอย่างไร


Dollar Index คือ ดัชนีที่วัดมูลค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ในระบบตระกร้าเงินที่เป็นการเฉลี่ยน้ำหนักเงินสกุลต่างๆ 6สกุลหลัก ได้แก่
• Euro (EUR), 57.6% weight
• Japanese yen (JPY), 13.6% weight
• Pound sterling (GBP), 11.9% weight
• Canadian dollar (CAD), 9.1% weight
• Swedish krona (SEK), 4.2% weight and
• Swiss franc (CHF) 3.6% weight.


ซึ่งหมายความว่าเงินแต่ละสกุลจะมีน้ำหนักในตระกร้าเงินไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับสัดส่วนน้ำหนัก ที่แจ้งมาดังกล่าว แต่อย่างไรก็ดีจะเห็นว่าเงินที่มีผลต่อค่าเงินดอลลาร์ มากที่สุดคือ ยูโร เพราะมีสัดส่วนในตระกร้าเงิน 57.6% และรองลงมาคือเยน ญี่ปุ่นและ ปอนด์ อังกฤษ ตามลำดับ

โดยทั้งนี้จะเห็นว่าตระกร้าเงินดอลลาร์มีความผูกผันกับค่าเงินถึง 6 สกุลหลัก แต่มีความผูกผันถึง 20 เนื่องจากกลุ่มประเทศยุโรปที่ใช้เงินสกุลยูโรมีถึง 15ประเทศ

ดัชนีนี้ ได้มีการเริ่มต้นคำนวณมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1973 ที่ดัชนี 100 ซึ่งเคยปรับตัวขึ้นสูงสุดราว 160 และต่ำสุดที่ 70.698 ในวันที่ 16 มี.ค. 2008 ซึ่งทั้งนี้ดัชนีนี้ ได้มีการซื้อขายในตลาด IntercontinentalExchange ที่นิวยอร์ค โดยจะเริ่มทำการซื้อขายตั้งแต่ เย็นวันอาทิตย์ (16.00 น.เวลานิวยอร์ค) ตลอด24ชั่วโมงถึงวันศุกร์เย็น (16.00 น. นิวยอร์ค)


โดยสูตรการคำนวนมีดังนี้
USDX = 50.14348112 × EURUSD^(-0.576) × USDJPY^(0.136) × GBPUSD^(-0.119) × USDCAD^(0.091) × USDSEK^(0.042) × USDCHF^(0.036



Dollar Index / ความสำคัญของค่าเงินดอลลาร์
ซึ่ง ณ ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า Dollar Index นั้นเป็นดัชนีสำคัญ ในการบอกถึงแนวโน้มการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆดังนี้

1.ทิศทางค่าเงินดอลลาร์ต่อสกุลเงินต่างๆ เช่น ไทยบาทต่อดอลลาร์ , เยนต่อดอลลาร์ , ปอนด์ ต่อดอลลาร์ หรือ ยูโรต่อดอลลาร์
ซึ่งหมายความว่า หาก Dollar index มีการอ่อนค่าลง ก็จะส่งผลถึงแนวโน้มของเงินสกุลต่างๆ ว่ามีโอกาสที่จะแข็งค่าต่อดอลลาร์ แต่อย่างไรก็ดี การที่ค่าเงินสกุลต่าง จะแข็งค่าต่อเงินสกุลดอลลาร์อาจมีอัตราส่วนที่ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับ สภาวะเศรษฐกิจ การเมือง ความเชื่อมั่น และ Demand & Supply ของเงินสกุลนั้น ว่ามีมากน้อยอย่างไร


2.กระแสเงิน (Fund Flow) ที่มักจะเข้าไปลงทุนในประเทศที่มีค่าเงินแข็งกว่าเงินสกุลดอลลาร์ ซึ่งจะเข้าทั้งในตลาดตราสารเงิน และตลาดทุน โดยจะเห็นว่าส่วนใหญ่ที่ผ่านมาเมื่อเงินบาทไทยมีแนวโน้มที่จะแข็งค่า ก็มักจะมีเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาซื้อหุ้นจำนวนมาก จึงทำให้ปริมาณการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติ ดูจะเป็นสัดส่วนเดียวกับเงินบาทที่แข็งค่า คือต่างชาติมักจะซื้อหุ้นเมื่อเห็นว่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าและจะขายเมื่อเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าดังตัวอย่างในรูป


แต่อย่างไรก็ดีจะเห็นว่า ในปี 2008 เกิดการขายของนักลงทุนต่างชาติในขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่า ก็เป็นได้ เนื่องจากเกิดวิกฤติการณ์ ซับไพร์ม ที่ทำให้เงินลงทุนสินทรัพย์ทั่วโลกถูกเทขาย เพื่อนำเงินกลับมาอุ้มวิกฤติ ในประเทศอเมริกา

3.ราคาทองคำ
เนื่องจากเงินสกุลดอลลาร์เปรียบเสมือนเงินสกุลหลักในการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ซึ่งหากค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงไป ก็จะทำให้เงินดอลลาร์ถูกแปลงสภาพเป็นสินทรัพย์อื่นๆ ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ดังเช่นทองคำเป็นต้น โดยในอดีตที่ผ่านมาทองคำเปรียบเสมือนเงินสดสกุลหนึ่งที่มีสภาพคล่องและสามารถใช้เป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันเงินเฟ้อได้ดี
ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างทองคำและดอลลาร์มักจะมีความสัมพันธ์แบบผกผันคือ หากดอลลาร์อ่อน ทองคำจะปรับตัวสูงขึ้น และหากดอลลาร์แข็ง ทองคำจะปรับตัวลดลง



4.ราคาน้ำมัน
ความสัมพันธ์ของราคาน้ำมันมักจะเป็นสัดส่วนผกผันกับดัชนีค่าเงินดอลลาร์ กล่าวคือ ราคาน้ำมันมักปรับตัวสูงขึ้นเมื่อค่าเงินดอลลาร์มีการอ่อนค่า

โดยปัจจัยที่ 1 คือ เงินสกุลดอลลาร์เปรียบเสมือนสกุลหลัก ในการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าที่มีอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ เช่น น้ำมัน ทองคำ เหล็ก ธัญพืช ต่างใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในการแลกเปลี่ยนซื้อขาย จึงทำให้ประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ต้องการที่จะขายสินค้า ในมูลค่าทางการเงินเท่าเดิม (คือยังได้เงินดอลลาร์มาซื้อสินค้าอย่างอื่นในปริมาณหรือขนาดเท่าเดิม) แต่หากค่าเงินดอลลาร์อ่อนก็หมายถึงอำนาจซื้อของเงินดอลลาร์ลดน้อยลง จึงทำให้ผู้ขายสินค้าเหล่านี้ปรับราคาให้สูงขึ้นเพื่มมาชดเชยมูลค่าดอลลาร์ที่ขาดหายไป

ปัจจัยที่ 2 อาจเกิดสภาวะการเก็งกำไร เข้าถือครองในสินทรัพย์ โภคภัณฑ์ (commodities) มากขึ้นเมื่อ ค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มที่จะอ่อนค่า เพราะผู้ลงทุนทุกคนต่างมุ่งหวังที่จะถือสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มแข็งค่ามากกว่าอ่อนค่า เพื่อรักษามูลค่าสินทรัพย์รวมที่ได้ลงทุนไว้ ดังนั้น เมื่อแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์อ่อนก็จะส่งผลให้ราคา Commodities ปรับตัวสูงขึ้น

วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

Vocabulary For Investors (VFI)
วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 เสนอคำว่า

Price Spread ช่วงราคา

ช่วงราคา Price Spread หมายถึง ช่วงการปรับตัวของราคาหลักทรัพย์สำหรับการเสนอซื้อและเสนอขายบนกระดานหลักและกระดานหน่วยย่อย โดยผู้ลงทุนจะต้องเสนอราคาซื้อหรือขายหลักทรัพย์ตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ขั้นระดับราคา โดยช่วงราคาจะกว้างขึ้นเมื่อราคาหลักทรัพย์อยู่ในระดับที่สูงขึ้น


โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้กำหนดแต่ละช่วงราคาไว้ดังนี้
ราคาเสนอซื้อ - ขาย ช่วงราคา (บาท)
ต่ำกว่า 2 บาท 0.01
ตั้งแต่ 2 บาท - แต่ต่ำกว่า 5 บาท 0.02
ตั้งแต่ 5 บาท - แต่ต่ำกว่า 10 บาท 0.05
ตั้งแต่ 10 บาท - แต่ต่ำกว่า 25 บาท 0.10
ตั้งแต่ 25 บาท - แต่ต่ำกว่า 100 บาท 0.25
ตั้งแต่ 100 บาท - แต่ต่ำกว่า 200 บาท 0.50
ตั้งแต่ 200 บาท - แต่ต่ำกว่า 400 บาท 1.00
ตั้งแต่ 400 บาทขึ้นไป 2.00

ที่มา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


จิระศักดิ์ อภินทนาพงศ์
โทร 081-3491153

วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

Vocabulary For Investors (VFI) โดยจิระศักดิ์

Vocabulary For Investors (VFI)
วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 เสนอคำว่า

Book Value มูลค่าตามบัญชี
คือมูลค่าของหุ้นสามัญหรือมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของบริษัท (Net Asset Value) ตามงบดุลล่าสุดของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ ที่คำนวณได้จากการนำสินทรัพย์รวมหักด้วยหนี้สินรวม ซึ่งก็คือ ส่วนของผู้ถือหุ้นนั่นเอง ส่วนการหามูลค่าตามบัญชีต่อหุ้นต้องหารด้วยจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วของบริษัท
มูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น (Book Value per Share) มีความหมายว่าหากบริษัทมีการชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการ และสามารถจะนำสินทรัพย์ที่มีอยู่แปรเป็นเงินสดตามมูลค่าที่ระบุในงบดุลและชำระหนี้สินต่างๆ ให้เจ้าหนี้ตามยอดหนี้ที่ปรากฏ ณ วันที่ในงบดุลแล้ว ผู้ถือหุ้นจะได้รับเงินทุนต่อหุ้นคืนในจำนวนเท่ากับมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น


มูลค่าบัญชีต่อหุ้น = สินทรัพย์รวม – หนี้สินรวม
_________________________________
จำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดที่บริษัทออกและเรียกชำระแล้ว



ที่มา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

จิระศักดิ์ อภินทนาพงศ์
โทร 081-3491153

วันศุกร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2552

Stagflation

Stagflation
Stagflation มาจากคำ 2 คำ คือ Stagnation และInflation เป็นคำที่อธิบายถึงสภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งมีปัญหาเงินเฟ้อควบคู่กับภาวะการชะลอตัวของระบบเศรษฐกิจ, มีการว่างงานสูง ซึ่งอาจจะหมายรวมเป็นว่า ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (Recession) คำว่า "Stag" หมายถึง ภาวะเศรษฐกิจเสื่อมถอย ในขณะที่ "Flation" บ่งบอกถึง ระดับราคาสินค้าที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว Stagflation มีการบัญญัติใช้ครั้งแรกในช่วงกลางทศวรรษ 1970 เมื่อเศรษฐกิจของอเมริกามีอัตราเงินเฟ้อสูงถึง 12% ในขณะที่อัตราการว่างงานสูงเกือบ 9% เงินเฟ้อที่สูงขึ้นดังกล่าว มีสาเหตุมาจากราคาน้ำมันดิบที่พุ่งสูงขึ้นกว่า 4 เท่าตัว จากการรวมหัวกันของ OPEC ประกอบกับการยกเลิกการควบคุมราคา และค่าจ้างแรงงานของรัฐบาลอเมริกันในช่วงนั้น ในขณะเดียวกัน ระบบเศรษฐกิจอเมริกันดิ่งลงสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุสำคัญทำให้รัฐบาลพรรคเดโมแครต ภายใต้การนำของประธานาธิบดีคาร์เตอร์ เสื่อมความนิยมลงอย่างรวดเร็ว จากการไม่สามารถจัดการกับปัญหา Stagflation นี้ได้
โดยปกติปัญหาเงินเฟ้อ พร้อมเศรษฐกิจตกต่ำมักจะไม่เกิดขึ้นพร้อมกัน แต่เมื่อสองเกลอ (ตัวแสบ) มาเจอกัน ก็เลยเกิดปรากฏการณ์ "สองเด้ง" และทำให้ผู้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ ทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง มีอาการปวดหัว เป็นอย่างมาก และก็มีหลายทฤษฎี หลายสำนัก แนะนำการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งผมจะไม่กล่าวในที่นี้ แต่จะขอกล่าวถึงการแก้ปัญหา stagflation ของอเมริกาในช่วงนั้นเลย
อย่างที่กล่าวข้างต้น ปรากฏการณ์สองเด้ง ทำให้ผู้แก้ไขปัญหามีอาการปวดหัวเป็นอย่างมาก เพราะว่าหากจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ (ลดดอกเบี้ย/เพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ) ก็จะไปเพิ่มแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อ หากจะแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ (ขึ้นดอกเบี้ย/ขึ้นภาษี) ก็อาจจะมีปัญหาเรื่องการถดถอยของเศรษฐกิจซ้ำเติมก็ได้ ถึงจุดนี้ก็คงต้องเลือกเอาว่าจะแก้อะไรก่อน โดยที่ไม่ทำให้ปัญหาอีกอย่างหนึ่งรุนแรงมากขึ้นนัก ก็เลยเกิดเหตุการณ์ และบุคคลที่ยังเป็นที่กล่าวขวัญกันมาถึงทุกวันนี้
ประธานธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา (Federal Reserve; Fed) ในขณะนั้นคือ นาย Paul Volcker เลือกใช้นโยบายที่เรียกว่า Disinflationary Policy. Volcker เลือกที่จะจัดการปัญหาเงินเฟ้อก่อน ในปลายปี 1979 และปี 1980 หลังจากที่อเมริกาอยู่ในภาวะ "double digit inflation" มาหลายปี Volcker ใช้นโยบายขึ้นดอกเบี้ยจนกระทั่งดอกเบี้ยในตลาดเงินสูงกว่า 20% เพื่อที่จะเอาเงินเฟ้อให้อยู่หมัด

หมายเหตุ บทความจากคุณเสถียร ตันธนะสฤษดิ์ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
MR.JIRASAK APINTANAPONG
e-mail jirasak.dpu@gmail.com

สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodites)

สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodites) คือ สินค้าที่มีปริมาณความต้องการบริโภคจริงๆ และซื้อขายกันอ้างอิงกับราคาในตลาดโลก โภณภัณฑ์ชนิดเดียวจะมีคุณสมบัติพื้นฐานเหมือนกันแต่แตกต่างตรง เกรด ความบริสุทธิ์ หรือแหล่งผลิต
สินค้าโภคภัณฑ์ มี 2 ชนิด
1.สินค้าโภคภัณฑ์ที่มีอยู่อย่างจำกัด (Hard Commodites) คือ สินค้าโภคภัณฑ์ที่ใช้แล้วหมดไปได้ ไม่สามารถสร้างขึ้นใหม่ทดแทนได้ ต้องมีการขุดเจาะและค้นหา มีต้นทุนสูงในการขุดหา และต้องใช้เวลา ซึ่งแบ่งเป็น
- โลหะมีค่า (Precious Metal) เช่น ทองคำ เงิน เพลทตินัม พาลาเดียม
- โลหะพื้นฐาน (Base Metal) เช่น ทองแดง อลูมิเนียม ตะกั่ว ดีบุก สังกะสิ
- พลังงาน (Energy) เช่น น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ
2.สินค้าโภคภัณฑ์ที่มีอย่างไม่จำกัด (Soft Commodities) คือ สามารถที่จะเพาะปลูกหรือทำให้มีการเติบโตขึ้นมาได้หรือผลิตทดแทนใหม่ได้ เช่น กาแฟ โกโก้ น้ำตาล ข้าว ข้าวโพด ยางพารา มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง ผลไม้ ปศุสัตว์ แม้ว่าจะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่สามารถขยายพันธุ์เพิ่มเติมได้ไม่มีที่สิ้นสุด แต่ก็เลี่ยงปัจจัยทางธรรมชาติ การเมือง แรงงาน ฤดูกาล ลักษณะการบริโภค ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทนี้มีความผันผวนของราคา

หมายเหตุ ข้อมูลจากสถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน
จิระศักดิ์ อภินทนาพงศ์
E-mail jirasak.dpu@gmail.com

หน่วยวัดน้ำหนักทองคำที่สำคัญ

หน่วยวัดน้ำหนักทองคำที่สำคัญ
- 1 Troy Ounec = 31.1034768 gram ใช้ในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย
- 1 Taek (Hong Kong) = 36.70 gran ใช้ในประเทศที่ใช้ภาษาจีน เช่น จีน ใต้หวัน ฮ่องกง
- 1 Baht (Thailand) = 15.244 gram ใช้ในประเทศไทย
- ทองคำความบริสุทธิ์ 96.5 % (มาตรฐานในประเทศไทย)
-- ทองรูปพรรณ น้ำหนัก 1 บาท เท่ากับ 15.16 กรัม
-- ทองคำแท่ง น้ำหนัก 1 บาท เท่ากับ 15.244 กรัม

ที่มา สมาคมค้าทองคำแห่งประเทศไทย (Gold Traders Association)
จิระศักดิ์ อภินทนาพงศ์
E-mail jirasak.dpu@gmail.com


วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2552

Balance of Payments

Balance of Payments ดุลการชำระเงิน
ดุลการชำระเงิน หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Balance of Payments คือ บัญชีที่จัดทำขึ้นเพื่อดูการไหลเข้าและออกของเงินตราต่างประเทศ จากการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งในที่นี้หมายถึง ระหว่างผู้มีถิ่นฐานในประเทศ (residents) กับผู้มีถิ่นฐานในต่างประเทศ (nonresidents) ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เช่น ในรอบ 1 เดือน หรือในรอบ 1 ไตรมาส หรือในรอบ 1 ปี เป็นต้น มีทั้งในรูปของเงินสกุลบาทและเงินสกุลหลัก ได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐฯ
ดุลการชำระเงินอาจจะเกินดุล (Surplus) สมดุล (Balance) หรือขาดดุล (Deficit) ก็ได้ ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบแต่ละประเภทที่เกี่ยวข้องในบัญชีดุลการชำระเงิน โดย
- เกินดุล เมื่อมีการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศมากกว่าการไหลออกของเงินตราต่างประเทศ
- สมดุล เมื่อมีการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศเท่ากับการไหลออกของเงินตราต่างประเทศ
- ขาดดุล เมื่อมีการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศน้อยกว่าการไหลออกของเงินตราต่างประเทศ

บัญชีดุลการชำระเงินจะประกอบไปด้วยรายการที่เกี่ยวข้องกับด้านรับเงินตราต่างประเทศ และด้านจ่ายเงินตราต่างประเทศ ซึ่งได้แก่ การค้าระหว่างประเทศ (การนำเข้าและการส่งออกสินค้าและบริการต่าง ๆ) รายได้ การโอนและการบริจาค รวมไปถึงการลงทุนระหว่างประเทศ

บัญชีดุลการชำระเงินมีองค์ประกอบดังนี้
1. บัญชีเดินสะพัด (Current Account) ซึ่งประกอบไปด้วย
1.1) บัญชีการค้า (Trade Account) ได้แก่ รายการการค้าสินค้าระหว่างประเทศ หรือส่วนที่เรียกว่า การส่งออก และการนำเข้า
1. 2) บัญชีบริการ (Service Account) ได้แก่ รายการการค้าบริการระหว่างประเทศ โดยรายการที่สำคัญและเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ง่าย ได้แก่
- รายได้และรายจ่ายการท่องเที่ยว โดยหากชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวเมืองไทย ก็จะถือเป็นรายรับด้านบริการ แต่หากคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศ จะถือเป็นรายจ่ายด้านบริการ เป็นต้น - รายได้ หรือรายจ่ายด้านการขนส่ง และให้บริการต่างๆ
1. 3) บัญชีรายได้และเงินโอน (Income and Current Transfers Account)
- รายได้จากแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ หรือการส่งกลับรายได้ของชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทย
- รายได้เงินปันผล / ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนในต่างประเทศ หรือส่วนที่ชาวต่างชาติมาลงทุนในไทยและส่งรายได้เงินปันผล / ผลตอบแทนกลับออกไป
- รายการเงินโอนและเงินบริจาค เช่น ไทยได้รับเงิน / สิ่งของบริจาคเพื่อช่วยเหลือ ตอนเกิดสึนามิ จากต่างประเทศ หรือไทยบริจาคเงิน / สิ่งของให้ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสนับสนุนการศึกษา เป็นต้น

2. บัญชีเงินทุนเคลื่อนย้าย (Capital and Financial Account)
ประกอบไปด้วยการเคลื่อนย้ายเงินทุนของภาคเอกชนและภาคทางการ
2. 1) การเคลื่อนย้ายเงินทุนของภาคเอกชน เช่น
- การลงทุนโดยตรง ที่เรียกว่า FDI (Foreign Direct Investment) เช่น การเข้ามาเปิดบริษัท เปิดโรงงานผลิตสินค้าในไทย หรือคนไทยไปลงทุนเปิดร้านอาหารในต่างประเทศ เป็นต้น
- การลงทุนในตลาดหุ้นของไทย หรือนักลงทุนไทยไปลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ เรียกว่า การลงทุนในหลักทรัพย์- การให้กู้ยืมระหว่างคนไทยกับคนต่างประเทศ เช่น บริษัทแม่ในต่างประเทศให้เงินกู้ยืมแก่บริษัทลูกที่อยู่ในไทย- การให้สินเชื่อการค้า ที่เรียกว่า Trade Credits
2. 2) การเคลื่อนย้ายเงินทุนของภาคทางการ ได้แก่ เงินกู้และสินเชื่อระหว่างประเทศ เช่น การกู้ยืมเงินมาเพื่อลงทุนในโครงการสร้างรถไฟฟ้าของรัฐบาล เป็นต้น

3. บัญชีทุนสำรองระหว่างประเทศ (International Reserve Account)
เป็นบัญชีที่เป็นทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของประเทศ ซึ่งเมื่อตอนที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ทุนสำรองตัวนี้เองที่เป็นตัวที่ปรับลดลงค่อนข้างมาก โดยประกอบไปด้วยส่วนที่เป็นทองคำที่ฝากไว้กับ IMF (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) และธนาคารแห่งประเทศไทย นอกจากทองคำแล้วยังมีส่วนที่เป็นเงินตราต่างประเทศสกุลหลัก อาทิ ดอลลาร์สหรัฐฯ เยนญี่ปุ่น ยูโร ฯลฯ รวมทั้งตั๋วเงินระยะสั้นที่ในรูปของเงินตราต่างประเทศ ที่มีผลตอบแทน เป็นต้น

4. บัญชีความผิดพลาดและคลาดเคลื่อนทางสถิติ (Errors and Omissions)
บัญชีนี้เกิดขึ้นเพื่อเก็บตกข้อผิดพลาดและความคลาดเคลื่อนในการจัดเก็บสถิติที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศดังที่ได้กล่าวไปแล้ว กับการเปลี่ยนแปลงของระดับทุนสำรองระหว่างประเทศในแต่ละช่วงเวลา กล่าวคือ บัญชีนี้เป็นตัวปรับรายการความคลาดเคลื่อนทางสถิติ เพื่อให้ผลรวมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นมีค่าเท่ากับการเปลี่ยนแปลงของทุนสำรองระหว่างประเทศ


ดุลการชำระเงิน = ดุลบัญชีเดินสะพัด (ดุลการค้า+ดุลบริการ+รายได้และเงินโอน) + ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้าย

การเปลี่ยนแปลงในดุลการชำระเงิน = การเปลี่ยนแปลงในบัญชีทุนสำรองระหว่างประเทศ + ความผิดพลาดคลาดเคลื่อนทางสถิติ

- มีมูลค่าการนำเข้าสินค้ามากกว่ามูลค่าการส่งออก ซึ่งอันนี้มีผลทำให้ดุลการค้าขาดดุล
- แต่เผอิญว่าไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก และมากกว่ารายจ่ายจากการไปเที่ยวต่างประเทศของคนไทย ซึ่งอันนี้มีผลทำให้ดุลบริการเกินดุล - ดังนั้น หากดุลบริการที่เกินดุลมีมูลค่าสูงกว่าดุลการค้าที่ขาดดุล ผลจะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล
- ต่อมาสมมติให้มีการไหลเข้าของเงินทุนมากกว่าการไหลออกของเงินทุน ก็ทำให้ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลเช่นกัน
- ผลก็คือ ทั้งดุลบัญชีเดินสะพัด และดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายต่างก็เกินดุล ก็จะมีผลทำให้ดุลการชำระเงินเกินดุลไปด้วย
- เมื่อดุลการชำระเงินเกินดุล เช่น 200 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่การเปลี่ยนแปลงในบัญชีทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเพียง 198 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในที่นี้ส่วนของบัญชีความผิดพลาดและคลาดเคลื่อนทางสถิติจะอยู่ที่ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นต้น

หวังว่าคงจะยังไม่งงกัน เพราะรู้สึกว่ามีหลายบัญชีเหลือเกิน วิธีจำแบบคร่าวๆ ก็คือ
- ดุลการค้า ก็ให้คิดถึงแต่เฉพาะเรื่องของนำเข้า-ส่งออกสินค้า
- ดุลบริการ ก็นึกถึงเรื่องการบริการ โดยเฉพาะเรื่องของการท่องเที่ยว และค่าขนส่ง
- ดุลรายได้และเงินโอน ให้นึกถึงการส่งกลับรายได้จากการไปทำงานในต่างแดน และการโอนเงินบริจาค
- ดุลบัญชีเดินสะพัด = ดุลการค้า + ดุลบริการ + ดุลรายได้และเงินโอน
- ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้าย ให้คิดถึงเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการเดินทางของเงินทุน เช่น ลงทุนในตลาดหุ้น การเอาเงินมาลงทุนเปิดกิจการโรงงาน เป็นต้น
- ดุลการชำระเงิน = ดุลบัญชีเดินสะพัด + ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้าย
- การเปลี่ยนแปลงในดุลการชำระเงิน = การเปลี่ยนแปลงในบัญชีทุนสำรองระหว่างประเทศ + ความผิดพลาดคลาดเคลื่อนทางสถิติ

ความสัมพันธ์ระหว่างดุลการชำระเงินกับอัตราแลกเปลี่ยน
ความสัมพันธ์จะขึ้นอยู่กับว่าประเทศนั้นๆ ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบใด
- ซึ่งหากเป็นแบบไทยในอดีต ซึ่งใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ (Fixed Exchange Rate Regime) เวลาเกิดความไม่สมดุลของดุลการชำระเงิน เช่น ขาดดุล หรือเกินดุล ธนาคารกลางหรือรัฐบาลของประเทศมีหน้าที่รักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับที่ต้องการจะคงไว้ ดังนั้น เมื่อมีการเกินดุลของดุลการชำระเงิน ธนาคารกลางจะต้องเข้าไปแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยน โดยการซื้อเงินตราต่างประเทศที่เกินดุลนั้นขึ้นมา เพื่อรักษาสมดุลในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ในกรณีนี้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศจะปรับสูงขึ้น ส่วนในกรณีที่ดุลการชำระเงินขาดดุล ธนาคารกลางหรือรัฐบาลก็ทำในลักษณะตรงกันข้าม
- หากใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว (Floating Exchange Rate Regime) เมื่อเกิดความไม่สมดุลของดุลการชำระเงิน อัตราแลกเปลี่ยนจะเปลี่ยนแปลงโดยอัตโนมัติตามการทำงานของกลไกตลาด เช่น ในกรณีที่ดุลการชำระเงินเกินดุล หมายถึงมีเงินตราต่างประเทศเข้ามามาก ค่าเงินของประเทศนั้น ๆ ก็จะมีค่าแข็งขึ้น ซึ่งจะมีผลทำให้การส่งออกลดลง ขณะที่การนำเข้าจะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลทำให้ดุลการชำระเงินเกินดุลลดลง และค่อย ๆ ปรับเข้าสู่ดุลยภาพ โดยธนาคารกลางไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการแทรกแซงเพื่อให้อัตราแลกเปลี่ยนกลับเข้าสู่ดุลยภาพเช่นในกรณีของระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่
- หากใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ (Managed-Floating Exchange Rate Regime) ซึ่งเป็นแบบกึ่งลอยตัว กึ่งมีการจัดการกับอัตราแลกเปลี่ยน โดยธนาคารกลางอาจจะปล่อยให้มีการปรับตัวตามกลไกตลาดในบางช่วง แต่บางช่วง หากเห็นว่ามีความไม่สมดุลในดุลการชำระเงิน ก็อาจจะเลือกที่จะเข้ามาจัดการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนได้

ที่มา ธนาคารแห่งประเทศไทย

จิระศักดิ์ อภินทนาพงศ์
บริษัทหลักทรัพย์แอ๊ดคินซัน จำกัด (มหาชน)
โทร 02-205-7000 ต่อ 8683
Fax 02-253-5925
E-mail jirasakap@asl.co.th

วันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2552

Deflation (เงินฝืด)

ภาวะเงินฝืด หรือเงินฝืด (Deflation) หมายถึง ภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการทั่วไปลดต่ำลงเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากอุปสงค์รวมมีน้อยเกินไป ไม่เพียงพอที่จะซื้อสินค้าและบริการทำให้ผู้ผลิตต้องลดราคาสินค้าเพื่อที่จะทำให้ขายได้ และลดการผลิตลงเพราะว่าถ้าผลิตออกมาเท่าเดิมก็ขายได้น้อย ผลที่ตามมาจะก่อให้เกิดผลเลวร้ายต่อเศรษฐกิจเพราะการจ้างงานจะลดลงตามไปด้วย ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อมาตราฐานความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้นเมื่อเกิดภาวะเงินฝืด อำนาจซื้อของบุคคลทั่วไปจะสูงขึ้นด้วย ภาวะเงินฝืดจะตรงข้ามภาวะเงินเฟ้อ

ภาวะเงินฝืดอาจจะเกิดจากสาเหตุบางประการดังต่อไปนี้
1. การขาดแคลนเงินทุนหรือเงินออม ทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ทำให้การกู้ยืมไปลงทุนลดน้อย การผลิตลดน้อยลง จึงมีการจ้างงานลดระดับลง รายได้ประชาชนก็ลดลงตามไป ทำให้ภาวการณ์ซื้อขายชะลอตัว
2. มีการส่งเงินทุนออกต่างประเทศมากเกินไป ทั้งโดยถูกต้องตามกฎหมายและผิดกฎหมายในระยะยาวนานติดต่อกัน จึงเป็นเหตุให้สูญเสียเงินตราต่างประเทศไปจำนวนมาก และเกิดผลกระทบทำให้เงินทุนลดน้อย ภาวะดอกเบี้ยจึงสูงขึ้น
3. ความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายการเงินและการคลัง เช่น มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินสูงเกินจนสถาบันการเงินประสบปัญหาในเรื่องให้สินเชื่อแก่ลูกค้า มีการจัดเก็บภาษีทางตรงในอัตราสูงมากจนประชาชนเหลือเงินใช้จ่ายน้อยเกินไป ทำให้อุปสงค์ลดลงไม่สมดุลกับอุปทานที่มีมากกว่า หรือรัฐบาลจัดการพิมพ์ธนบัตรออกหมุนเวียนใช้ไม่เพียงพอกับความจำเป็นของภาวะเศรษฐกิจขณะนั้น
4. การลดลงของต้นทุนจากปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยน หรือมาตรการปรับลดภาษี และการที่ปริมาณเงินหมุนเวียนมีไม่เพียงพอต่อขนาดของระบบเศรษฐกิจ และสาเหตุอื่นๆ เช่น ประชาชนไม่นิยมออมเงินในระบบการเงิน แต่หันไปนิยมการออมนอกระบบการเงิน ตัวอย่าง มีการนำเงินออมไปลงทุนไว้ในทรัพย์สิน โดยการกักตุน ซื้อโลหะมีค่า ซึ่งเป็นเหตุให้เงินออมในระบบการเงินลดน้อยลง จึงทำให้เงินทุนมีน้อย ดอกเบี้ยจึงแพง เป็นต้น

ผลกระทบของภาวะเงินฝืดเมื่อเกิดภาวะเงินฝืดหรือเศรษฐกิจต่ำ นับว่าเป็นปัญหาร้ายแรงมาก ส่งผลกระทบต่อสิ่งต่าง ๆ คือ
1. ผลต่อประชาชน ซึ่งเกิดขึ้นในเรื่องของรายได้ที่มีอยู่ กล่าวคือ ภาวะเงินฝืดทำให้เงินมีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้น ผู้ที่ได้รับประโยชน์คือ ผู้มีรายได้ประจำและเจ้าหนี้ ส่วนผู้ที่เสียประโยชน์ก็คือ ผู้มีรายได้จากกำไรและลูกหนี้
2. ผลต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดขึ้นในลักษณะที่ภาวการณ์ลงทุน การผลิตที่ลดลงเกิดการว่างงานทำให้ประชาชนขาดรายได้ อำนาจซื้อตกต่ำลง สินค้าจะตกค้าอยู่ในคลังสินค้าอย่างมาก กำไรธุรกิจลดน้อยลงหรือเกิดภาวการณ์ขาดทุนอย่างรุนแรง สภาพเศรษฐกิจของประเทศจะซบเซาตกต่ำ รายได้ประชาชาติจะถดถอยลง ในภาวะที่ตลาดซบเซาทำให้ผู้ประกอบการต่างต้องการเงินเพื่อมาหมุนเวียนในกิจการ ทำให้ต้องหาทางเพื่อเปลี่ยนสินค้าให้เป็นเงิน ซึ่งต้องลดราคาสินค้าเพื่อจูงใจผู้ซื้อทั้งลดแลกแจกแถม เงินฝืดมักจะเป็นผลพวงมาจากภาวะฟองสบู่แตกทำให้เกิดปัญหาเกิดหนี้เสียและความเชื่อมั่นต่อการลงทุนลดน้อยลง ทำให้ภาคการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นเมื่อสถาบันการเงินไม่ยอมปล่อยสินเชื่อทำให้ภาคธุรกิจไม่สามารถที่จะหาเงินมาหมุน เวียนจนทำให้กิจการบางแห่งต้องปิดตัวลง ยังผลให้ต้องเลิกจ้างพนักงานเป็นจำนวนมาก เมื่อพนักงานส่วนหนึ่งกลายเป็นคนตกงาน ทำให้ประชาชนไม่มีเงินจับจ่ายซื้อสินค้า ซึ่งจะส่งผลโดยตรงไปยังธุรกิจการค้า และมีผลต่อภาคการผลิตอื่นๆ

ที่มาข้อมูล ธนาคารแห่งประเทศไทย
กระทรวงพาณิชย์

เรื่อง ภาวะเงินฝืด (Deflation)
จิระศักดิ์ อภินทนาพงศ์
Email jirasak.dpu@gmail.com

วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2552

ภาวะเงินฟ้อ (Inflation)

ภาวะเงินเฟ้อ หรือ เงินเฟ้อ (Inflation) หมายถึง ภาวะที่ราคาข้าวของเครื่องใช้โดยทั่วไปมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง การสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มูลค่าของเงินลดลง หรือ การที่ระดับราคาของสินค้าหรือการบริการในช่วงระยะเวลาหนึ่งราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นหน่วยวัดในรูปแบบของอัตราร้อยละ จากดัชนีราคา ขอยกตัวอย่างง่ายๆเช่น ปีที่ผ่านมาเราซื้อสินค้าด้วยเงินจำนวน 100 บาทต่อชิ้น มาปีนี้เราต้องซื้อสินค้าตัวเดิมด้วยเงิน 103 บาท แสดงว่ามูลค่าของเงินลดลง 3% และปีต่อไปราคาสินค้าชิ้นนี้ก็เพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ แต่การเพิ่มราคาของ สินค้าจะหมายถึงสินค้าทั้งหมดในระบบเศรษฐกิจ แต่ถ้าเพิ่มขึ้นอย่างเดียวหรือ 2-3 อย่างจะไม่ถือว่าเป็นเงินเฟ้อ หากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นแต่เพียงเล็กน้อยเป็นปกติก็จะสร้างสิ่งจูงใจแก่ผู้ประกอบการ แต่หากเพิ่มขึ้นมากและผันผวนก็จะสร้างความไม่แน่นอนและก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการครองชีพของประชาชน รวมทั้งการขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

สาเหตุที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ
1. ต้นทุนสินค้าเพิ่ม (Cost-push inflation) ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น สาเหตุที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น อาทิ การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงาน การวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้านำเข้า ซึ่งอาจเพิ่มไปตามภาวะตลาดโลก เช่น การที่ระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น หรือผลของอัตราแลกเปลี่ยน
2. ความต้องการสินค้าเพิ่ม (Demand-pull inflation) เนื่องจากระบบเศรษฐกิจมีความต้องการสินค้าและบริการมากกว่าที่มีอยู่ในขณะนั้นๆ จึงดึงให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น

ผลกระทบของเงินเฟ้อ
ผลต่อความต้องการถือเงิน ภาวะเงินเฟ้อจะทำให้ค่าของเงินลดลง เพราะเมื่อราคาสินค้าแพงขึ้น เงินเท่าเดิมจะซื้อของได้น้อยลงความต้องการถือเงินจะขึ้นอยู่กับการคาดคะเนราคาสินค้าหรือค่าของเงินด้วย ค่าของเงินยิ่งต่ำ คนจะยิ่งพยายามถือเงินให้น้อยลง โดยจะมีการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการมากขึ้น
ผลกระทบต่อรัฐบาล รัฐบาลมักจะได้รับประโยชน์จากภาวะเงินเฟ้อ คือ ภาวะเงินเฟ้อจะทำให้ประชาชนมีรายได้ที่เป็นตัวเงินเพิ่มสูงขึ้น ถ้ารัฐเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า ก็จะเก็บภาษีได้มากขึ้น มีรายได้มากขึ้น ส่วนทางด้านรายจ่ายของรัฐนั้นถ้าเป็นจำนวนที่คงที่ เช่น เงินเดือน, บำนาญ, เงินสงเคราะห์ต่าง ๆ รัฐก็จะได้ประโยชน์เพราะเงินนั้นมีค่าน้อยลง ถ้ารัฐมีการกู้ยืมมากรัฐจะได้ประโยชน์ฐานะลูกหนี้ เพราะจำนวนเงินที่จ่ายในแต่ละส่วนจะมีค่าน้อยลง และเนื่องจากรัฐมีรายได้มากขึ้น การชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจึงทำได้โดยไม่ลำบากในการเก็บรักษามูลค่า และเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนได้เลย

เมื่อเกิดเงินเฟ้อจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในการกระจายรายได้ของบุคคล เช่น
1) ผู้มีรายได้เป็นจำนวนเงินคงที่ตายตัวหรือรายได้ประจำจะเสียเปรียบ เพราะค่าใช้จ่ายต่างๆ จะสูงขึ้นเนื่องจากสินค้าแพขึ้น แต่รายได้ที่เป็นตัวเงินยังคงเดิม เช่นข้าราชการ , ผู้มีรายได้จากบำนาญ ในขณะที่ผู้มีรายได้จากกำไร หรือมีรายได้เป็นตัวเงินที่เปลี่ยนแปลงได้ง่าย เช่น พ่อค้า, นักธุรกิจ มักจะได้ประโยชน์จากการทำให้ได้กำไรมากขึ้น
2) ลูกหนี้จะได้เปรียบในขณะที่เจ้าหนี้เสียเปรียบ เนื่องจากเงินที่นำไปชำระหนี้คืนนั้นมีอำนาจซื้อลดลง เนื่องจากค่าของเงิน ลดต่ำลงไปเรื่อย ๆ เพราะราคาสินค้าสูงขึ้น
3) ผู้ถือทรัพย์สินที่เป็นตัวเงินแน่นอน เช่น เงินสด เงินฝากประจำ หุ้นกู้ จะเสียเปรียบ เพราะเงินลดค่าลงในขณะที่ผู้ถือทรัพย์สินที่มีราคาไม่แน่นอนมักจะได้เปรียบ เพราะราคาของทรัพย์สินมักจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ที่ดิน อาคารบ้านเรือน เครื่องมือเครื่องจักร กักตุนสินค้า


ที่มาข้อมูล จากกระทรวงพาณชย์
MR.JIRASAK APINTANAPONG
jirasak.dpu@gmail.com

วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2552

Equity ETF

Equity ETF
ETF ย่อมาจาก Exchange Traded Fund

Equity ETF: นวัตกรรมทางการเงิน คือ กองทุนรวมประเภทกองทุนเปิด ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เสมือนหุ้น ผู้ลงทุนสามารถส่งคำสั่งซื้อ คำสั่งขายผ่าน โบรกเกอร์ได้เหมือนการซื้อขายหุ้นทั่วไป และเป็นกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนที่เน้นการสร้างผลตอบแทนให้เท่ากับดัชนีอ้างอิง อาทิเช่น ดัชนีราคาหุ้น ดัชนีราคาหุ้น SET50 ดัชนีราคาตราสารหนี้ เป็นต้น
การลงทุนใน Equity ETF ในตลาดหลักทรัพย์สำคัญๆ ในต่างประเทศได้รับความนิยมมาก เนื่องจากมีสภาพคล่องจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และการอ้างอิงดัชนีราคาหุ้นเสมือนการลงทุนในหุ้นที่เป็น องค์ประกอบของการคำนวณดัชนีทั้งหมด ทำให้ช่วยกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ขณะเดียวกันก็ยังให้ผลตอบแทนในรูปเงินปันผล (dividend) และส่วนต่างราคา (capital gain) แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน

ความเป็นมาของ Equity ETF ในประเทศไทย
ลักษณะของ Equity ETF เป็นการรวมจุดเด่นของกองทุนและหุ้นไว้ด้วยกัน ทำให้ Equity ETF กลายเป็นหลักทรัพย์ที่มีบทบาทสร้างจุดสนใจให้กับผู้ลงทุน พร้อมกับช่วยสร้างสภาพคล่องของการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ให้มากขึ้น ข้อดีเหล่านี้ทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเห็นคุณค่าของการผลักดัน Equity ETF กองแรกในประเทศไทยให้เกิดขึ้นในปี 2550
กลุ่มสถาบันการเงินที่ได้รับคัดเลือกเข้ามาร่วมลงทุนและบริหารจัดการ Equity ETF ประกอบด้วย บริษัทที่ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการกองทุน พร้อมทั้งสถาบันการเงินอื่นที่เข้ามาเป็นผู้ร่วมสนับสนุนซื้อขายและค้าหน่วยลงทุน ซึ่งมีชื่อเรียกทางการว่าผู้ร่วมค้าหน่วย (Participating dealers หรือ PDs)
นอกจากจะมีผู้ร่วมสนับสนุนซื้อขายและค้าหน่วยลงทุนแล้ว ยังจะต้องมีผู้ดูแลตลาด ให้มีความผันผวนน้อยที่สุด และสามารถตอบสนองต่อปริมาณความต้องการลงทุนของนักลงทุนให้ได้มากที่สุด ซึ่งเรียกว่าผู้ดูแลสภาพคล่อง (market maker)

สินค้าอ้างอิง (Underlying Asset) ของ Equity ETF
Equity ETF กองแรกของประเทศไทยใช้ดัชนีราคาหุ้น SET50 เป็นหลักทรัพย์อ้างอิง ผู้จัดการกองทุนจะรวบรวมเงินลงทุนจากกลุ่มผู้ร่วมลงทุนไปซื้อหุ้นในกลุ่ม SET50 โดยมีวัตถุประสงค์การลงทุนให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีราคาหุ้น SET50 มากที่สุด ดังนั้นพอร์ตการลงทุนจึงประกอบไปด้วยหุ้น 50 ตัวที่มีพื้นฐานดี มีมูลค่าตามราคาตลาด (market capitalization) อยู่ในระดับสูง และเป็นหลักทรัพย์ที่อยู่ในความต้องการของนักลงทุน มีการหมุนเวียนของการ ซื้อขายโดยตลอด หรือมีสภาพคล่องสูง

การซื้อขาย Equity ETF ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
การซื้อขาย Equity ETF ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็คือ การซื้อขายผ่านตลาดรอง โดยมีขั้นตอน ดังนี้
1. ถ้าผู้ลงทุนต้องการซื้อหน่วยลงทุน Equity ETF ผู้ลงทุนสามารถส่งคำสั่งซื้อหรือขายให้กับโบรกเกอร์
2. โบรกเกอร์ส่งคำสั่งซื้อของผู้ลงทุนต่อไปยังตลาดหลักทรัพย์
3. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จัดการกับคำสั่งซื้อขายด้วยวิธีจับคู่อัตโนมัติของระดับราคาซื้อขาย เช่นเดียวกับวิธีการซื้อขายหุ้นบนกระดาน
บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (TSD) ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของระบบชำระราคา และส่งมอบหลักทรัพย์ให้ผู้ลงทุน


ข้อมูลจาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


จิระศักดิ์ อภินทนาพงศ์
E-mail jirasakap@gmail.com

วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2552

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในหุ้น
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ
บริษัทจดทะเบียน
โบรกเกอร์หรือบริษัทสมาชิก
บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย ) จำกัด

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
ก.ล.ต. เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลและสร้างความเป็นธรรมของตลาดทุนโดยรวม เพื่อให้ผู้ลงทุนเกิดความมั่นใจในการลงทุน โดยสำนักงานจะทำหน้าที่เป็นปราการด่านแรกในการพิจารณาอนุญาตให้กิจการต่างๆสามารถนำหลักทรัพย์ออกขายให้ประชาชนในตลาดแรกได้โดย ก.ล.ต. จะพิจารณาคุณสมบัติของกิจการนั้นๆ รวมถึงกำหนดให้ต้องเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับบริษัท ให้ผู้ลงทุนได้รับรู้ถึงฐานะการดำเนินงานของบริษัทเพื่อประกอบการตัดสินใจ นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังกำกับดูแลองค์กรต่างๆในธุรกิจหลักทรัพย์ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นตลาดรองของการซื้อขายตราสารทุน ตลาดตราสารหนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นตลาดรองของการซื้อขายตราสารหนี้ ตลอดจนบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ เป็นผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุนอย่างถูกต้องและป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์อีกด้วย หาข้อมูลที่ www.sec.or.th

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
หลังจากที่บริษัทได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ให้เสนอขายหุ้นแก่ประชาชนแล้ว (ซึ่งเรียกว่าเป็นการซื้อขายในตลาดแรก) บริษัทที่เสนอขายหุ้นสามารถยื่นเรื่องขอจดทะเบียนในตลาดหุ้นหรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ลงทุนว่าหุ้นมีตลาดรองในการซื้อขายเปลี่ยนมือได้สะดวก อันเป็นการช่วยสร้างและทำให้การระดมทุนในตลาดแรกได้รับความสนใจ ตลาดหลักทรัพย์เองนั้นไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ซื้อหรือขายหุ้นโดยตรงแต่จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการซื้อขายหุ้นให้เป็นไปอย่างมีระเบียบ คล่องตัว โปร่งใสและยุติธรรม โดยบริษัทที่นำหุ้นเข้าจดทะเบียนจะต้องเปิดเผยข้อมูลให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอตามเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด เพื่อผู้ลงทุนจะได้รับทราบข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและสามารถตัดสินใจลงทุนได้อย่างเหมาะสม หาข้อมูลได้ที่ www.set.or.th

ตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ
เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสของบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม ที่มีศักยภาพในการเติบโตให้สามารถเข้าระดมทุนผ่านตลาดทุนได้เช่นเดียวกับบริษัทขนาดใหญ่ และยังทำให้ผู้ลงทุนได้มีโอกาสเลือกลงทุนในสินค้าที่มีความหลากหลายมากขึ้น ตลาดเอ็ม เอ ไอ ก็จะทำหน้าที่คล้ายกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คือทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการซื้อขายหุ้นให้เป็นไปอย่างมีระเบียบ คล่องตัว โปร่งใสและยุติธรรม

บริษัทจดทะเบียน
บริษัทจดทะเบียนก็คือบริษัทมหาชนจำกัด ที่ต้องการระดมทุนเพื่อขยายกิจการโดยขายหุ้นแก่ประชาชนโดยบริษัทจะต้องขออนุญาตกับสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่จะออกและเสนอขายหลักทรัพย์ (ยกเว้นแต่เป็นการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม บริษัทสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องขออนุญาต) ทั้งนี้ บริษัทจะต้องเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนก่อน จึงจะเสนอขายได้ และหากบริษัทต้องการให้หลักทรัพย์นั้นมีสภาพคล่อง บริษัทก็อาจนำหลักทรัพย์นั้นเข้าไปซื้อขายในตลาดรอง (ซึ่งในที่นี้คือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) เพื่อให้ผู้ถือหลักทรัพย์สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้สะดวก

โบรกเกอร์หรือบริษัทสมาชิก
ในการซื้อขายหุ้นนั้น ตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้เป็นผู้รับคำสั่งซื้อขายจากผู้ลงทุนโดยตรง ดังนั้น เมื่อผู้ลงทุนสนใจซื้อขายหุ้น จะต้องติดต่อกับโบรกเกอร์ หรือซับโบรกเกอร์ โบรกเกอร์ก็คือนายหน้าซื้อขายหุ้นที่ให้บริการแก่ผู้ลงทุน โดยคิดค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมในการเป็นนายหน้าจากผู้ลงทุน ส่วน ซับโบรกเกอร์ (Sub-Broker) หรือบริษัทหลักทรัพย์ที่ไม่ใช่สมาชิกก็สามารถรับส่งคำสั่งซื้อขายจากผู้ลงทุนได้เช่นเดียวกันกับโบรกเกอร์ แต่เนื่องจากซับโบรกเกอร์ไม่ได้เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ จึงต้องส่งคำสั่งไปยังโบรกเกอร์ก่อน หลังจากนั้น โบรกเกอร์จะส่งคำสั่งไปยังระบบ การซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์อีกต่อหนึ่ง

บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย ) จำกัด
เมื่อมีการตกลงซื้อขายหุ้นกันในตลาดหลักทรัพย์แล้ว ขั้นตอนต่อไปจะมีการชำระราคาและส่งมอบระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยผู้ที่ทำหน้าที่ให้บริการหลังการซื้อขายหุ้นแก่โบรกเกอร์ก็คือ บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของตลาดหลักทรัพย์ ที่มีหน้าที่หลักคือ- เป็นศูนย์กลางในการชำระราคาและส่งมอบหุ้น หรือพูดง่าย ๆ คือ เป็นตัวกลางในการรับ-จ่ายเงิน/หุ้นจากการซื้อขายจากโบรกเกอร์ต่าง ๆ - รับฝากและถอนหุ้น ซึ่งปัจจุบันใช้ระบบไร้ใบหุ้น หรือ Scripless ดังนั้น ฝ่ายที่ซื้อที่ต้องได้ใบหุ้น ก็จะได้แค่หลักฐานว่าได้มีการโอนหุ้นเข้าบัญชีแล้ว และถ้ามีการขายเมื่อไร ศูนย์รับฝากฯ ก็จะโอนหุ้นนั้นไปให้ผู้ซื้อรายอื่น ด้วยวิธีนี้ทำให้การส่งมอบหุ้นมีความปลอดภัย ป้องกันไม่ให้ใบหุ้นสูญหาย อีกทั้งง่ายต่อการซื้อขายหรือโอนเปลี่ยนมือด้วย - เป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ คือ ดูแลข้อมูลผู้ถือหุ้นและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ผู้ถือหุ้นพึงได้รับ เช่น เงินปันผล เป็นต้น หาข้อมูลได้ที่ www.tsd.co.th

ที่มา สถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน

jirasak apintanapong

วันอังคารที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2552

การลงทุนในหุ้น...มีประโยชน์อย่างไร

การลงทุนในหุ้น...มีประโยชน์อย่างไร

มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่น่าสนใจ
สิ่งสำคัญที่จูงใจให้มาลงทุนในหุ้นก็คือ ผลตอบแทน ซึ่งประกอบด้วย กำไรจากการขายหุ้น หรือที่เรียกว่า Capital Gain (ในกรณีที่ขายหุ้นได้ในราคาที่สูงกว่าราคาที่ซื้อมา) เงินปันผลจากกำไรในธุรกิจที่บริษัทจ่ายสำหรับผู้ถือหุ้น และยังมีผลตอบแทนในรูปอื่น ๆ ที่บริษัทพิจารณาจัดสรรให้อีกเช่น สิทธิในการจองซื้อหุ้นใหม่ (Right) หุ้นปันผล (Stock Dividend) เป็นต้น
ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนที่ได้รับจากหุ้นสามัญจะผันแปรไปตามผลประกอบการของบริษัท กล่าวคือ หากภาวะเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทดี ผู้ถือหุ้นก็มีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนในอัตราที่สูงขึ้น ในทางตรงข้าม หากภาวะเศรษฐกิจซบเซาและมีผลให้บริษัทมีผลกำไรลดลงอัตราผลตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับก็มีแนวโน้มที่จะลดลง ดังนั้นผู้ลงทุนจึงมีความเสี่ยงในเรื่องของความไม่แน่นอนของอัตราผลตอบแทนที่จะได้รับซึ่งในประเด็นนี้จะทำให้การลงทุนหุ้นแตกต่างจากการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนคงที่ เช่นการฝากเงินแบบประจำกับธนาคารพาณิชย์ หรือการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเพราะผู้ลงทุนจะได้ผลตอบแทนในอัตราที่ระบุไว้หากถือตราสารจนครบกำหนด

มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกิจการ
ผู้ที่ตัดสินใจลงทุนในหุ้นมองว่า การถือหุ้นของบริษัททำให้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกิจการ กล่าวคือ มีสิทธิเข้าประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อลงคะแนนเสียง และร่วมบริหารในบริษัทที่ตนลงทุนอยู่ ดังนั้น หากผู้ลงทุนสนใจลงทุนในธุรกิจไหน ก็สามารถเข้าไปซื้อหุ้นของบริษัทที่ตนสนใจได้หากบริษัทที่ผู้ลงทุนมีหุ้นอยู่มีผลประกอบการที่ดี ผู้ลงทุนก็จะได้รับประโยชน์ เช่น เมื่อหุ้นนั้นมีความน่าสนใจ ราคาหุ้นก็อาจสูงขึ้นทำให้ผู้ลงทุนมีโอกาสได้กำไรจากการขายหุ้นในราคาที่สูงกว่าราคาที่ซื้อมา หรือหากบริษัทนั้นมีนโยบายจ่ายเงินปันผล หากกิจการดี ก็อาจจ่ายเงินปันผลมากขึ้น เป็นต้น

กำหนดวัตถุประสงค์ให้ดีก่อนเริ่มลงทุน
เนื่องจากหุ้นเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงกว่าทรัพย์สินถาวรอื่น ๆ เช่น หากผู้ลงทุนลงทุนซื้อบ้านหรือที่ดิน มักเป็นการลงทุนระยะยาว ไม่ค่อยซื้อขายกันบ่อยนัก เพราะในการจะหาคนมาซื้อหรือขายก็อาจจะไม่ง่ายนัก แต่สำหรับหุ้นนั้น หากผู้ลงทุนต้องการขายเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินสด ก็สามารถทำได้ง่ายกว่า หรือทางการเงินเรียกกันว่ามีสภาพคล่องมากกว่า เนื่องจากหุ้นนั้นมีตลาดรอง หรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำให้ผู้ลงทุนสามารถซื้อขายหุ้นเปลี่ยนมือได้สะดวก มีความคล่องตัว นั่นหมายถึงผู้ลงทุนไม่ต้องรู้จักผู้ที่ต้องการซื้อหรือขาย เพราะตลาดหลักทรัพย์จะเป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย สิ่งสำคัญในการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายก็คือ ราคาที่ทั้งสองฝ่ายพึงพอใจ แต่อย่างไรก็ตาม หุ้นแต่ละตัวก็อาจมีสภาพคล่องที่แตกต่างกัน พูดอีกอย่างหนึ่งคือ หุ้นบางตัวที่ได้รับความสนใจก็จะซื้อง่ายขายคล่อง ขณะที่หุ้นตัวที่ไม่ค่อยมีผู้สนใจ ก็อาจจะหาผู้ซื้อผู้ขายได้ยากกว่า
jirasak apintanapong

วันพุธที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2552

Dervatives อนุพันธ์


Dervatives

ตราสารอนุพันธ์ (DERIVATIVES) เป็นตราสารทางการเงินชนิดหนึ่ง ที่มีคุณลักษณะพิเศษคือ เป็นตราสารที่ไม่มีมูลค่าในตัวเอง แต่มีมูลค่าขึ้นอยู่กับ สินค้าอื่นที่ตราสารอนุพันธ์นั้นอ้างอิงอยู่ โดยสินค้าที่ตราสารอนุพันธ์อ้างอิง จะเรียกว่า สินค้าอ้างอิง (Underlying Asset)ลักษณะเด่นของตราสารอนุพันธ์อีก อย่างหนึ่งคือ เป็นตราสารที่มีอายุจำกัด เมื่อหมดอายุมูลค่าของตราสารนั้นๆ ก็จะหมดลงด้วย
การซื้อขายอนุพันธ์ที่ได้ยินข่าวคราวอยู่เสมอ ก็คือ การซื้อขายสินค้าล่วงหน้า เช่น การซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าในต่างประเทศ เป็นต้น แต่จริงๆ แล้ว คุณลักษณะของอนุพันธ์ มีให้พบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ถึงความหมายของอนุพันธ์ชัดเจนยิ่งขึ้น จะยกตัวอย่างเรื่องใบจองซื้อรถมาอธิบายถ้าคนต้องการ รถใหม่เป็นจำนวนมากและมีคนจำนวนหนึ่งที่ซื้อใบจองรถไม่ทันคนเหล่านี้จึงไปขอซื้อใบจองรถจากคนที่จองได้ โดยยอมจ่ายค่าใบจองแพงกว่าราคาที่ขายตอนแรก จากราคาไม่กี่พันบาท ใบจองรถบางรุ่นก็ขึ้นไปถึงหลักหมื่นก็มี ทั้งที่ตัวใบจองรถเปล่าๆ ถือว่าไม่มีค่าอะไรเลย แต่ค่าของมันอยู่ที่ “สิทธิ” เพื่อใช้ซื้อรถตามรุ่น ตามยี่ห้อ และราคาตามที่ระบุไว้ ภายในเวลาที่กําหนดไว้ในใบจอง ถ้าครบกําหนดแล้วผู้ถือใบจองไม่นําใบจองไปใช้สิทธิซื้อรถ ใบจองรถใบนั้นก็จะหมดค่าไปทันที ในกรณีนี้เรา เปรียบ “ใบจองรถ” ได้ว่าเป็น “อนุพันธ์” ประเภทหนึ่ง ที่ให้สิทธิในการซื้อรถได้ ส่วน “รถยนต์” ก็เปรียบได้กับ “สิ่งที่มันอ้างอิง” ของอนุพันธ์ฉบับนั้นๆ นั่นเอง
จะเห็น ได้ว่าราคาของใบจองรถที่ยังไม่หมดอายุจะมากหรือจะน้อยเท่าใดขึ้นกับว่าใบจองนั้นเป็นใบจองสําหรับรถยนต์ยี่ห้ออะไร รุ่นอะไร คนนิยมกันมาก แค่ไหน ถ้าเป็นรุ่น ยอดนิยมราคาใบจองก็อาจจะสูงมาก แต่ถ้าเป็นรุ่นที่ไม่นิยมคนไม่ต้องการ คนที่ซื้อใบจองมาตอนแรกถ้าเปลี่ยนใจไม่อยากซื้อรถแล้ว ต้องการขาย ใบจองก็อาจขายไม่ออก หรือต้องขายในราคาต่ำมากๆ จึงจะมีคนยอมซื้อ ซึ่งจะเห็นได้ว่าค่าของใบจองรถ ที่อุปมาเป็นอนุพันธ์ จะไม่มีมูลค่าในตัวเอง แต่คุณค่าของ อนุพันธ์จะอยู่ที่ “สินทรัพย์อ้างอิง”การซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ ก็เปรียบเสมือนการนำใบจองรถมาซื้อขายเปลี่ยนมือในตลาด ราคาของใบจองจึงเพิ่มลดเปลี่ยนแปลง ตามอุปสงค์และ อุปทานในตลาด ผู้ที่ซื้อใบจองมาก็หวังว่าจะขายได้ในราคาสูงขึ้น ซึ่งการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์จะเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนสามารถ "ขายก่อนซื้อ" หรือ "ซื้อก่อนขาย" ก็ได้ จึงทำให้เกิดโอกาสทำกำไรในสองขา เช่นจากตัวอย่างข้างต้น หากผู้ลงทุนคาดว่าราคาใบจองจะสูงขึ้น ก็สามารถเข้ามาซื้อ และรอขายทำกำไรใน อนาคต แต่หาก ผู้ลงทุนคาดว่าราคาใบจองจะต่ำลง ก็สามารถเข้ามา "ขาย" ก่อนได้เลย และรอ "ซื้อ" เพื่อทำกำไรในภายหลัง
นอกจากนี้ ตราสารอนุพันธ์ยังมีจุดเด่นที่ใช้เงินลงทุนน้อย ผู้ลงทุนมีโอกาสได้ผลตอบแทนสูง จากตัวอย่างใบจองรถข้างต้นจะเห็นว่าคนที่ซื้อใบจองรถมา ตอนแรก แล้วนำใบจองรถไปขายต่อ ใช้เงินทุนน้อยมาก เมื่อเทียบกับเงินที่ต้องใช้ซื้อรถจริงๆ เพื่อรอนำไปขายต่อทำกำไรอย่างไรก็ตาม แม้ว่าการซื้อขายใบจองรถจะมี ลักษณะคล้ายกับการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ แต่ก็เป็นเพียงการยกตัวอย่างเพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากตราสารอนุพันธ์มีหลายประเภท วิธีการซื้อ ขายตลอดจนกำไรและขาดทุนของผู้ซื้อและผู้ขาย จึงขึ้นอยู่กับประเภทของอนุพันธ์นั้นๆ


ประเภทของสินค้าที่ซื้อขายในตลาดอนุพันธ์
โดยหลักๆ แล้วตราสารอนุพันธ์ที่ซื้อขายกันในตลาดเงินทั่วโลก สามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน ได้แก่
1. ฟิวเจอร์ส (FUTURES)
สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ซื้อขายผ่านตลาดอนุพันธ์ที่มีการจัดตั้งอย่าง
เป็นทางการ เมื่อถึงเวลาที่กำหนดผู้ซื้อและผู้ขายมีพันธะต้องซื้อขายกัน
ตามที่ตกลงในสัญญา
2. ออปชั่น (OPTIONS)
สัญญาสิทธิ ผู้ขายมีภาระต้องปฎิบัติตามพันธะในสัญญา ในขณะที่ผู้
ซื้อมีสิทธิ จะเลือกใช้สิทธิหรือไม่ก็ได้
3. ฟอร์เวิร์ด (FORWARD)
สัญญาซื้อขายล่วงหน้าคล้ายกับฟิวเจอร์ส แต่ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงซื้อ
ขายกันนอกตลาดที่มีการจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ
4. สวอป (SWAP)
ข้อตกลงระหว่างบุคคลตั้งแต่ 2 ฝ่ายขึ้นไป ในการแลกเปลี่ยนกระแสเงิน
สดในอนาคต

จิระศักดิ์ อภินทนาพงศ์
jirasak.dpu@gmail.com

วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2552

เครื่องหมายต่างๆ ในการซื้อขายหุ้น

เครื่องหมายต่างๆ ในการซื้อขายหุ้น

หมวดเครื่องหมายต่างๆ

1. C (Compliance)เป็นหลักทรัพย์ที่อยู่ระหว่างฟื้นฟูกิจการ (โดยการย้ายจากหมวด Rehabco ไปสู่หมวดปกติ)

2. CM (Call Market)เป็นหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายน้อย หุ้นดังกล่าวจับคู่ซื้อขายได้เฉพาะช่วง Call Market คือ Order ที่ส่งเข้าไปจะไม่ Match จนกว่าจะ Call Market

3. DS (Designated Securities)เครื่องหมายแสดงให้ผู้ลงทุนทราบว่าหลักทรัพย์นั้นมีภาวะซื้อขายผิดไปจากสภาพปกติในด้านราคาและ/หรือด้านปริมาณซื้อขายโดยที่ยังไม่ทราบเหตุผล และตลาดหลักทรัพย์กำลังตรวจสอบการซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าว ในการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ติดเครื่องหมาย DS ตลาดหลักทรัพย์กำหนดข้อปฏิบัติว่า ผู้ซื้อจะต้องใช้เงินสดชำระค่าหุ้นทันที และผู้ขายจะต้องส่งมอบใบหุ้นทันทีเช่นเดียวกัน บริษัทสมาชิกต้องงดซื้อขายหุ้นที่ติดเครื่องหมาย DS เพื่อบัญชีตนเองและจะต้องรายงานรายชื่อผู้ซื้อขายหลักทรัพย์นั้นๆให้ตลาดหลักทรัพย์ภายในเที่ยงวันของวันทำการถัดไป

4. H (Halt)
เครื่องหมายแสดงการห้ามซื้อขายหลักทรัพย์ชั่วคราว แต่ละครั้งมีระยะเวลาไม่เกินหนึ่งรอบการซื้อขาย เกิดจาก
มีข้อมูลข่าวสารสำคัญที่มีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้นโดยที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่ได้รับรายงานจากบริษัท
มีการซื้อขายหุ้นที่น่าสงสัย
บริษัทร้องขอให้หลาดหลักทรัพย์ฯหยุดพักการซื้อขายหุ้นชั่วคราว
มีเหตุอื่นที่อาจมีผลกระทบร้ายแรงต่อการซื้อขายหุ้นนั้น


5. N (News)เครื่องหมายแสดงให้ทราบว่ามีข่าวเกี่ยวกับหลักทรัพย์นั้น

6. NC (Non-Compliance)เครื่องหมายแสดงให้ทราบว่า บริษัทดังกล่าวเสนองบการเงินล่าช้าเป็นเวลานานติดต่อกันมากกว่า 180 วัน นับจากวันครบกำหนด ตลาดหลักทรัพย์ฯจะประกาศหลักทรัพย์นั้นเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน จนกว่าจะส่งงบการเงิน

7. NP (Notice Pending)เครื่องหมายแสดงให้ทราบว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ กำลังรอคำสั่งชี้แจงหรือรายงานข้อมูลเพิ่มเติมจากบริษัท หรือรอการเปิดเผยงบการเงิน หรือรายงานอื่นที่ต้องรายงานตามเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด

8. NR (Notice Received)ตลาดจะขึ้นเครื่องหมาย NR ไว้บนหลักทรัพย์ที่เพิ่งถูกถอนเครื่องหมาย NP เพื่อแจ้งให้ผู้ลงทุนทราบว่าตลาดหลักทรัพย์ฯได้รับข้อมูลข่าวสาร รายงาน หรือคำชี้แจงจากบริษัทดังกล่าวอย่างพอเพียง และได้ทำการเผยแพร่เพื่อให้ทราบกันทั่วแล้ว

9. SP (Suspension)ตลาดจะขึ้นเครื่องหมาย SP เพื่อห้ามการซื้อขายหุ้นที่จดทะเบียนชั่วคราวมากกว่าหนึ่งรอบ โดยมีเหตุผลดังนี้
บริษัทนั้นไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่องการเปิดเผยข้อมูล ป้าย "NP" จะถูกเปลี่ยนเป็น ป้าย "SP"
บริษัทนั้นไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่องการเปิดเผยข้อมูล หรือราคาหุ้นของบริษัทเปลี่ยนแปลงโดยไม่มีเหตุผลเพียงพอ
บริษัทไม่จัดส่งงบดุลตามข้อบังคับภายใน 5 วันทำการหลังจากการติดป้าย "NP"
บริษัทไม่จัดส่งงบการเงินตามข้อบังคับ 2 ครั้งติดต่อกัน และยังไม่ส่งตามกำหนดอีกเป็นครั้งที่ 3
บริษัทอยู่ในข่ายอาจถูกเพิกถอนหลักทรัพย์และต้องเสนอแผนการฟื้นฟูกิจการต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในเวลาที่กำหนด


10. XA (Exclude All)ผู้ซื้อหุ้นที่มีเครื่องหมาย XA ขึ้น จะไม่ได้รับสิทธิทุกประเภท ที่บริษัทประกาศ

11. XD (Exclude Dividends)ผู้ซื้อหุ้นที่มีเครื่องหมาย XD ขึ้น จะไม่มีสิทธิรับเงินปันผลที่บริษัทประกาศจ่ายในงวดนั้นๆ

12. XI (Exclude Interest)ผู้ซื้อหุ้นที่มีเครื่องหมาย XI ขึ้น จะไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยซึ่งจะให้กับหุ้นกู้หรือหุ้นกู้แปลงสภาพ

13. XM (Exclude Meetings)ผู้ซื้อหุ้นที่มีเครื่องหมาย XM ขึ้น จะไม่มีสิทธิเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น

14. XR (Exclude Rights)ผู้ซื้อหุ้นที่มีเครื่องหมาย XR ขึ้น จะไม่มีสิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่บริษัทออกใหม่

15. XS (Excluding Short-term Warrant)ผู้ซื้อหุ้นที่มีเครื่องหมาย XS ขึ้น จะไม่มีสิทธิรับใบสำคัญแสดงสิทธิในการจองซื้อหุ้นระยะสั้น

16. XW (Excluding Warrant)ผู้ซื้อหุ้นที่มีเครื่องหมาย XW ขึ้น จะไม่มีสิทธิรับใบสำคัญแสดงสิทธิ

17. ตัวอักษร และ ตัวเลขหลังตัวหุ้นชื่อหุ้น - F คือ หุ้นสามัญสำหรับนัลงทุนต่างประเทศชื่อหุ้น - P คือ หุ้นบุริมสิทธิสำหรับนักลงทุนไทยชื่อหุ้น - Q คือ หุ้นบุริมสิทธิสำหรับนักลงทุนต่างประเทศชื่อหุ้น - R คือ ใบสำคัญแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย สำหรับนักลงทุนต่างประเทศ (NVDR)ชื่อหุ้น - W คือ ใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญ สำหรับนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างประเทศชื่อหุ้น - C1 คือ ใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นบุริมสิทธิ สำหรับนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างประเทศ


หมายเหตุ รวบรวมจาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ กลต.

จิระศักดิ์ อภินทนาพงศ์
jirasak.dpu@gmail.com