การลงทุนในหุ้น...มีประโยชน์อย่างไร
มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่น่าสนใจ
สิ่งสำคัญที่จูงใจให้มาลงทุนในหุ้นก็คือ ผลตอบแทน ซึ่งประกอบด้วย กำไรจากการขายหุ้น หรือที่เรียกว่า Capital Gain (ในกรณีที่ขายหุ้นได้ในราคาที่สูงกว่าราคาที่ซื้อมา) เงินปันผลจากกำไรในธุรกิจที่บริษัทจ่ายสำหรับผู้ถือหุ้น และยังมีผลตอบแทนในรูปอื่น ๆ ที่บริษัทพิจารณาจัดสรรให้อีกเช่น สิทธิในการจองซื้อหุ้นใหม่ (Right) หุ้นปันผล (Stock Dividend) เป็นต้น
ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนที่ได้รับจากหุ้นสามัญจะผันแปรไปตามผลประกอบการของบริษัท กล่าวคือ หากภาวะเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทดี ผู้ถือหุ้นก็มีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนในอัตราที่สูงขึ้น ในทางตรงข้าม หากภาวะเศรษฐกิจซบเซาและมีผลให้บริษัทมีผลกำไรลดลงอัตราผลตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับก็มีแนวโน้มที่จะลดลง ดังนั้นผู้ลงทุนจึงมีความเสี่ยงในเรื่องของความไม่แน่นอนของอัตราผลตอบแทนที่จะได้รับซึ่งในประเด็นนี้จะทำให้การลงทุนหุ้นแตกต่างจากการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนคงที่ เช่นการฝากเงินแบบประจำกับธนาคารพาณิชย์ หรือการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเพราะผู้ลงทุนจะได้ผลตอบแทนในอัตราที่ระบุไว้หากถือตราสารจนครบกำหนด
มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกิจการ
ผู้ที่ตัดสินใจลงทุนในหุ้นมองว่า การถือหุ้นของบริษัททำให้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกิจการ กล่าวคือ มีสิทธิเข้าประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อลงคะแนนเสียง และร่วมบริหารในบริษัทที่ตนลงทุนอยู่ ดังนั้น หากผู้ลงทุนสนใจลงทุนในธุรกิจไหน ก็สามารถเข้าไปซื้อหุ้นของบริษัทที่ตนสนใจได้หากบริษัทที่ผู้ลงทุนมีหุ้นอยู่มีผลประกอบการที่ดี ผู้ลงทุนก็จะได้รับประโยชน์ เช่น เมื่อหุ้นนั้นมีความน่าสนใจ ราคาหุ้นก็อาจสูงขึ้นทำให้ผู้ลงทุนมีโอกาสได้กำไรจากการขายหุ้นในราคาที่สูงกว่าราคาที่ซื้อมา หรือหากบริษัทนั้นมีนโยบายจ่ายเงินปันผล หากกิจการดี ก็อาจจ่ายเงินปันผลมากขึ้น เป็นต้น
กำหนดวัตถุประสงค์ให้ดีก่อนเริ่มลงทุน
เนื่องจากหุ้นเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงกว่าทรัพย์สินถาวรอื่น ๆ เช่น หากผู้ลงทุนลงทุนซื้อบ้านหรือที่ดิน มักเป็นการลงทุนระยะยาว ไม่ค่อยซื้อขายกันบ่อยนัก เพราะในการจะหาคนมาซื้อหรือขายก็อาจจะไม่ง่ายนัก แต่สำหรับหุ้นนั้น หากผู้ลงทุนต้องการขายเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินสด ก็สามารถทำได้ง่ายกว่า หรือทางการเงินเรียกกันว่ามีสภาพคล่องมากกว่า เนื่องจากหุ้นนั้นมีตลาดรอง หรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำให้ผู้ลงทุนสามารถซื้อขายหุ้นเปลี่ยนมือได้สะดวก มีความคล่องตัว นั่นหมายถึงผู้ลงทุนไม่ต้องรู้จักผู้ที่ต้องการซื้อหรือขาย เพราะตลาดหลักทรัพย์จะเป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย สิ่งสำคัญในการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายก็คือ ราคาที่ทั้งสองฝ่ายพึงพอใจ แต่อย่างไรก็ตาม หุ้นแต่ละตัวก็อาจมีสภาพคล่องที่แตกต่างกัน พูดอีกอย่างหนึ่งคือ หุ้นบางตัวที่ได้รับความสนใจก็จะซื้อง่ายขายคล่อง ขณะที่หุ้นตัวที่ไม่ค่อยมีผู้สนใจ ก็อาจจะหาผู้ซื้อผู้ขายได้ยากกว่า
jirasak apintanapong
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น