วันอังคารที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2558

Credit Balance คืออะไร

            บัญชีซื้อขายหุ้นแบบเครดิตบาลานซ์หรือที่เดิมรู้จักกันในชื่อของบัญชีมา ร์จิ้น เป็นบัญชีสำหรับลูกค้าที่ต้องการมีอำนาจซื้อหุ้นมากกว่าเงินที่ตัวเองมีอยู่ โดยใช้เงินหรือหลักทรัพย์ของลูกค้าเองส่วนหนึ่งมาวางเป็นหลักประกันร่วมกับ การกู้ยืมเงินจากบริษัทฯ อีกส่วนหนึ่ง เมื่อลูกค้าทำการสั่งซื้อหุ้น บริษัทฯ จะหักเงินจากหลักประกันของลูกค้าที่วางไว้ก่อน และตราบใดที่ลูกค้ายังซื้อหุ้นในมูลค่าที่น้อยกว่าเงินสดหรือหลักประกันที่ วางเอาไว้ ก็ยังไม่ถือว่ามีการกู้ยืมจากบริษัทฯ และในกรณีที่ลูกค้ามีหลักประกันเป็นเงินสดคงเหลืออยู่ในบัญชี ลูกค้าก็ยังจะได้รับดอกเบี้ยจากเงินที่คงเหลืออยู่ในบัญชีดังกล่าวด้วย แต่เมื่อลูกค้าสั่งซื้อหุ้นที่มีมูลค่าเกินส่วนที่ตนได้วางหลักประกันไว้ บริษัทฯ ก็จะให้ลูกค้ากู้ยืมเงินเพื่อซื้อหุ้นนั้น โดยลูกค้าต้องเสียดอกเบี้ยสำหรับเงินส่วนที่กู้ยืม สำหรับการซื้อขายในบัญชีเครดิตบาลานซ์ ไม่ใช่ว่าจะซื้อหุ้นได้ทุกตัว ลูกค้าสามารถซื้อขายได้เฉพาะหุ้นที่อยู่ในรายชื่อที่บริษัทหลักทรัพยแต่ละที่กำหนดไว้เท่านั้น  แต่ถ้าลูกค้าต้องการซื้อหุ้นนอกเหนือจากที่กำหนด ต้องซื้อผ่านบัญชีเงินสด
นอกจากนี้ยังมีคำที่ควรทราบอีก 3 คำ ได้แก่ Initial Margin Rate (IM), Maintenance Margin Rate (MM) และ Force Sell Rate สำหรับ

      IM ก็คือ อัตราส่วนของหลักประกันเริ่มแรกขั้นต่ำที่ลูกค้าต้องวางไว้กับบริษัทฯ เพื่อประกันการชำระหนี้ต่อมูลค่าหุ้นที่ซื้อนั่นเอง ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด IM ขั้นต่ำไว้ที่ 50% ขอยกตัวอย่างเพื่อจะได้เข้าใจได้ดีขึ้น หากลูกค้า ซื้อหุ้น A มูลค่า 100,000 บาท โดยโบรกเกอร์กำหนดอัตรา IM ของหุ้น A ไว้ที่ 50% หมายความว่าลูกค้าต้องวางเงินเป็นหลักประกันไว้กับบริษัทฯ 50,000 บาท และส่วนที่เหลืออีก 50,000 บาทนั้น ลูกค้าได้มาจากการกู้ยืมเงินจากบริษัทฯ นั่นเอง สำหรับ IM นี้ บริษัทฯ ได้กำหนด IM ของหุ้นแต่ละกลุ่มแตกต่างกันได้ตามปัจจัยพื้นฐานและความเสี่ยงทางด้านสภาพ คล่อง แต่ต้องไม่ต่ำกว่าที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด

      MM คือ อัตราส่วนของหลักประกันซึ่งลดต่ำลงมาจนถึงจุดที่บริษัทฯ ต้องเรียกให้ลูกค้านำเงินหรือทรัพย์สินมาวางเป็นหลักประกันเพิ่ม ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดไว้ที่ 35% หมายความว่า หากอัตราส่วนของหลักประกันซึ่งเคยอยู่ที่ 50% ลดลงมาเรื่อย ๆ อันเนื่องมาจากราคาหุ้นที่อยู่ในพอร์ตลดลง จน MM ต่ำกว่า 35% บริษัทฯ ก็ต้องบอกให้ลูกค้ามาวางหลักประกันเพิ่มเพื่อเพิ่มอัตราส่วนดังกล่าวขึ้นไป ให้ไม่ต่ำกว่า 35% หรือที่มักจะได้ยินกันบ่อย ๆ ว่า call margin ถ้าอธิบายต่อจากตัวอย่างข้างต้น หากต่อมาราคาหุ้น A ลดลง ส่งผลให้มูลค่าหุ้น A ในพอร์ตของลูกค้าลดลงจาก 100,000 บาท เหลือ 75,000 บาท มูลค่าหุ้นที่ลดลงไป 25,000 บาท (100,000 - 75,000) นั้น จะไปกินส่วนที่เป็นหลักประกันของลูกค้าที่มีอยู่เดิม 50,000 บาทเข้าไปด้วย ทำให้หลักประกันที่เป็นเงินของลูกค้าเหลือเพียง 25,000 บาท (50,000 – 25,000)
มูลค่าหลักประกันที่เหลืออยู่ 25,000 บาทนี้เมื่อนำมาคิดเทียบกับมูลค่าหุ้น A ปัจจุบัน (75,000 บาท) ก็จะมีสัดส่วนเพียง 33.33% [(25,000/75,000) x 100] ซึ่งต่ำกว่า MM ที่กำหนดไว้ (35%) ดังนั้น ลูกค้าจะต้องนำเงินประกันมาวางให้บริษัทฯ อีก 1,250 บาท เพื่ออัตราส่วนที่ว่านี้จะได้เพิ่มจาก 33.33% กลับขึ้นมาเป็นไม่ต่ำกว่า 35% (35% ของมูลค่าหุ้น A ที่ 75,000 บาท = 26,250 บาท)

     Force Sell Rate คือ อัตราส่วนของหลักประกันที่ลดต่ำลงมาจนถึงจุดที่ต้องบังคับขายหุ้นในพอร์ตของ ลูกค้าออกไป ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดไว้ที่ 25% โดยจะเกิดขึ้นกรณีที่เมื่อบริษัทฯ เรียกหลักประกันเพิ่มไปแล้ว และลูกค้ายังไม่นำหลักประกันมาเพิ่มตามเวลาที่กำหนดไว้ และต่อมามูลค่าหุ้นในพอร์ตของลูกค้าลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งมีผลให้อัตราส่วนของหลักประกันลดลงไปจนถึง 25% หรือต่ำกว่านั้น บริษัทฯ ก็จะดำเนินการบังคับขายหุ้นของลูกค้าออกไป (force sell) เพื่อนำเงินสดที่ได้จากการขายหุ้นมาชำระหนี้เงินกู้เพื่อให้ MM ของลูกค้าอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด

วัตถุประสงค์ของการกำหนดทั้ง 3 อัตรานี้ขึ้นมาควบคู่กับบัญชีแบบเครดิตบาลานซ์ก็เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการ ผิดนัดชำระหนี้ของลูกค้าในฐานะที่เป็นลูกหนี้กู้ยืมเงินจากบริษัทฯ ไม่ให้ส่งผลกระทบรุนแรงนั่นเอง แม้บัญชีในแบบเครดิตบาลานซ์จะช่วยเพิ่มอำนาจซื้อของลูกค้าและเพิ่มความคล่อง ตัวในการลงทุนก็ตาม แต่ก็ยังมีปัจจัยที่ลูกค้าต้องพิจารณาตัดสินใจอีกหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็น ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ต้องจ่าย หรือความเสี่ยงกรณีที่มูลค่าหุ้นลดลงไปมากและถูกเรียกหลักประกันเพิ่ม (margin call) หรืออาจถูกบังคับขาย (force sell) ได้ ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงควรศึกษาเงื่อนไขให้ถี่ถ้วนก่อนเริ่มลงทุน เพื่อที่จะได้เป็นก้าวแรกสู่การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างมีคุณภาพต่อไป

ข้อมูลจากบริษัทหลักทรัพย์หลักทรัพย์กรุงศรี จำกัด (มหาชน) และ www.sec.or.th
หากมีข้อสงสัยสอบถาม  JIRASAK APINTANAPONG  E-MAIL  jirasak.dpu@gmail.com



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น